จากเรื่องที่แล้วเราได้พูดถึงโรคที่กำลังมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานนั่งโต๊ะเป็นประจำอย่าง โรคออฟฟิศซินโดรม ถึงเรื่องอาการและการรักษากันไปแล้ว ครั้งนี้จะมาพูดถึงอีกโรคที่กำลังมีคนป่วยมากขึ้นไม่แพ้กันอย่าง ความดันสูง หรือ Hypertension ที่อาจเกิดจากมลภาวะ การกิน หรือใช้ชีวิตทั่วไปในแต่ละวันที่ส่งผลให้เกิดโรคความดันได้ง่ายขึ้น ว่าแต่ความดันสูงคืออะไร ความดันเท่าไหร่ถึงเรียกว่าสูง และมีวิธีลดความดันด้วยตนเองได้ยังไงไปดูกันเลย
ความดันสูง คืออะไร
ความดันสูง(Hypertension) คือ ภาวะของความดันในหลอดเลือดสูงเกินจากปกติ โดยปกติจากการวัดค่าความดันหากมีค่ามากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งปกติจะไม่ค่อยแสดงอาการเท่าไหร่นัก แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง เส้นเลือดแดงโป่งพอง ไตวาย และอื่นๆ อีกมากมาย และหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นจนอาจถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ความดันสูงเท่าไหร่
การวัดความดันจะได้ค่าตัวเลข 2 ชุดคือ ความดันโลหิตบน(แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่) และความดันโลหิตล่าง(แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายเต็มที่) เช่น ความดัน 120/80 หมายความว่าความดันโลหิตตอนหัวใจบีบเต็มที่คือ 120 และ ความดันโลหิตตอนหัวใจคลายเต็มที่คือ 80 โดยการวัดค่าเพื่อวินิจฉัยจะแบ่งความดันโลหิตออกเป็นช่วงๆ ดังนี้
ระดับความดัน | ความดันโลหิตบน | ความดันโลหิตล่าง |
ความดันปกติ | 120 ถึง 129 | 80 ถึง 84 |
ความดันสูงเล็กน้อย | 130 ถึง 139 | 85 ถึง 89 |
ความดันสูงเล็กน้อย | 140 ถึง 159 | 90 ถึง 99 |
ความดันสูงปานกลาง | 160 ถึง 179 | 100 ถึง 109 |
ความดันสูงมาก | มากกว่า 180 ขึ้นไป | มากกว่า 110 ขึ้นไป |
ข้อปฏิบัติก่อนวัดความดัน
- ไม่ดื่มชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์
- ไม่ออกกำลังกายมาในช่วง 30 นาที
- ถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
- นั่งเก้าอี้พิงพนัก ไม่เกร็ง
- ขณะวัดความดันไม่พูดคุย ไม่กำมือ
อาการของ ความดันสูง
ผู้ป่วยความดันสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการมากนัก ส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่สังเกตุได้คือ ปวดหัว เวียนหัว มึนงง คลื่นไส้ หน้ามืด และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แต่หากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดภาสะแทรกซ้อนตามมาที่ค่อนข้างรุนแรงได้ดังนี้
- ไตวายเรื้อรัง เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
- หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด และหัวใจวาย
- หลอดเลือดตีบ โป่งพอง
- จอประสาทตาเสื่อม
- เส้นเลือดสมองตีบ หรือแตกทำให้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ปัจจัยของ โรคความดันสูง
ปัจจัยของ ความดันสูง มีหลายสาเหตุทั้งแบบที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ดังนี้
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- กรรมพันธุ์ – จากงานวิจัยพบว่าโรคความดันสามารถส่งต่อผ่านกรรมพันธุ์ได้ ทำให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยความดันจะมีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไป
- เพศและอายุ – เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายโดยผู้ชายจะเกิดในช่วยก่อนอายุ 50 ปี แต่ผู้หญิงจะเกิดหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป
ปัจจัยที่ควบคุมได้
- น้ำหนักตัวสูงหรืออ้วน – ผู้มีน้ำหนักตัวเยอะมักจะเป็นโรคความดันตามมาเสมอ
- ไขมันในเลือดสูง – อาจเกิดจากการกินอาหารไขมันสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
- กินอาหารรสจัด – การปรุงอาหารรสจัดหรือหรือเค็มจัดจะทำให้เลือดข้นจากโซเดียมและอื่นๆ
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ – ความดันเลือกจะสูงเมื่อดื่ม ปล่อยไว้นานจนหลอดเลือดหนาและตีบ
- ผู้ป่วยเบาหวาน – ภาวะการดื้ออินซูลิน หรือการป่วยเป็นโรคเบาหวานจะส่งผลต่อโรคความดัน
- ความเครียด – ภาวะเครียดจัดเป็นอีกสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ขาดการออกกำลังกาย – ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายจะมีโอกาสไขมันอุดตันในหลอดเลือดสูง
วิธีลด ความดันโลหิตสูง
วิธีลดความดันสูงจะลดจากปัจจัยที่ความคุมได้ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หรือ รับประทานยาใดๆ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อนควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์และทำการรักษาให้ถูกต้อง โดยวิธีการลดความดันสูงที่ทำด้วยตนเองได้มีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ – การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ระบบหัวใจ และหลอดเลือดทำงานเป็นปกติ ขับของเสียออกจากร่างกายและมีรูปร่างที่ดีขึ้น
- เลี่ยงอาหารสจัด – การกินอาหารรสจัดจะทำให้ร่างกายได้รับสารปรุงแต่งมากเกินไปโดยเฉพาะโซเดียมจากความเค็ม และจากอาการแช่แข็งต่างๆ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน – ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอ ลดความข้นของเลือด และช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ – ควรนอนอย่างน้อย 6 ถึง 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอมักจะมีความดันสูง
- เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ – การดื่มของเหล่านี้จะมีสารที่ทำให้ร่างกายสดชื่นโดยกระตุ้นให้เลือดสูบฉีด หากไม่จำเป็นควรงดจะดีกว่า
ความดันสูงห้ามกินอะไร
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยความดันสูงที่อยากเลี่ยงการกินอาหารที่อาจส่งผลต่อความดันควร เลี่ยงอาหาร ตามรายการดังต่อไปนี้
- อาหารใส่สารกันบูด
- อาหารกระป๋อง
- เครื่องปรุงรสต่างๆ
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน ฯ
- อาหารใส่ผงชูรส หรือก้อนซุปปรุงรส
- ของหมักดอง เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาเค็ม
สรุปเรื่อง ความดันสูง
โรคความดันสูงเป็นโรคที่เกิดจากภาวะแรงดันในเลือดสูงกว่าปกติคือ 140/90 มิลลิปรอท โดยไม่ค่อยแสดงอาการมากนัก อาจแค่ปวดหัว วิงเวียน หน้ามืด หรือเหนื่อยง่าย แต่หากปล่อยไว้นานจะนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมายที่รุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตัวให้ความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติจะดีที่สุด หากมีอาการรุนแรงหรือมีข้อสงสัยควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรงเพื่อเข้ารับการรักษาก่อนจะเกิดโรคร้ายแรงที่อาจตามมาได้ สำหรับบทความเรื่องโรคความดันสูงขอจบเพียงเท่านี้
เครดิตข้อมูล
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/472
https://www.nakornthon.com/article/detail/ความดันโลหิตสูง-ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
เครดิตภาพปก : Medical checkup photo created by senivpetro – www.freepik.com