จากเรื่องที่แล้วได้พูดถึงโรคที่หลายคนมองข้ามแต่สำคัญว่าที่คิด หากปล่อยไว้ก็มีโอกาสเกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ในเรื่อง โรคกระเพาะ ครั้งนี้จะมาพูดถึงอีกโรคที่หลายคนกำลังสนใจหรืออาจจะกำลังป่วยอยู่อย่างโรค ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานนานๆ ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ดังนั้นเราจะมาดูกันว่ามีวิธีป้องกันโรคนี้ยังไง หรือมีตัวช่วยอะไรเพื่อลดอาการของโรคลงได้บ้าง รวมไปถึงแนวทางการรักษาสำหรับคนที่มีอาการป่วยเรื้อรัง รายละเอียดจะเป็นยังไงไปดูกัน
ออฟฟิศซินโดรม ( Office syndrome ) คืออะไร
โรคออฟฟิศซินโดรม(Office syndrome) เป็นโรคเกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อจากการอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน มักเกิดกับคนที่ทำงานในท่านิ่งอย่างเช่นพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดการใช้งานกล้ามเนื้อชุดเดิมซ้ำๆ ทำให้ปวดเมื่อยจากการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณ คอ บ่า หลัง แขน ในระยะแรกๆ อาจมีแค่อาการปวดเมื่อย แต่หากปล่อยไว้จะเริ่มมีอาการปวดมากขึ้นจนเกิดการอักเสบ และปวดแบบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ และมีโอกาสถึงขั้นมีผลกับระบบประสาทจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการของออฟฟิศซินโดรม
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมมักจะเป็นอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรืออยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ หากปล่อยไว้นานๆ ก็เสี่ยงจะเป็นเรื้อรังได้โดยอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมมีดังนี้
- ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน คอ บ่า หลัง สบัก ไหล่
- ปวดหัวบางครั้งมีอาการไมเกรนร่วมด้วย จากกล้ามเนื้อบ่าและหลังตึง
- ปวดขาหรือเกิดอาการเน็บชาจากการนั่งนาน
- ปวดตา ตาพร่ามัว มีอาการปวดหัวร่วมจากการใช้สายตานานๆ
- มือชาหรือปวดปลายประสาทนิ้ว นิ้วล็อค
- บางรายที่นั่งท่าไม่เหมาะสมอาจมีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังร่วมด้วย
วิธีป้องกันและการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยตนเอง
แน่นอนว่าหากเป็นงานเราอาจเลี่ยงการอยู่ท่าเดิมนานๆ ไม่ได้นัก ดังนั้นในช่วงพักหรือมีเวลาว่างควรมีการขยับร่างกายบ้าง หรือหาอุปกรณ์มาช่วยลดภาระจากการอยู่ท่าเดิมนานๆ โดยมีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้
- เหยียดยืดกล้ามเนื้อในเวลางาน หรือเวลาพัก เพื่อให้กล้ามเนื้อที่อยู่ท่าเดิมนานๆ จากการทำงานได้คลายตัว ซึ่งอาจไม่หายในทันทีต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ
- การประคบร้อน หรือประคบเย็นบริเวณที่ปวด หากมีอาการปวดมากในบางครั้งให้ใช้การประคบเข้าช่วยประกอบกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อไปด้วย
- มองหาท่ากายบริการสำหรับการยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ สำหรับคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งมีท่าหลากหลายแบบ ทำง่ายระหว่างทำงานก็ทำได้ไม่ยาก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้หาเวลาออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว และเสริมสร้างความแข็งแรง เป็นวิธีแก้ที่ได้ผลดีที่สุดเลยก็ว่าได้
- หาอุปกรณ์เสริมมาใช้ระหว่างทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้เพื่อสุขภาพ หมอนรองคอ หมอนรองหลัง เบาะเสริมรองนั่ง และอื่นๆ ซึ่งช่วยได้เยอะเลยทีเดียว
- ปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะท่านั่งที่ควรจะนั่งตัวตรงไม่งอคอไปด้านหน้า มีที่พักแขน และขยับร่างกายในเวลางานเป็นระยะๆ
การเข้ารับการรักษา
เบื้องต้นสามารถเข้ารับการนวดแผนโบราณ นวดผ่อนคลาย หรือรับประทานยารักษาได้ แต่หากไม่ดีขึ้นและมีอาการปวดรุนแรงจนรบกวนการทำงาน หรือร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ ***ควรปรึกษาแพทย์*** เพื่อรับคำแนะนำให้เหมาะสมก่อนเข้ารับการรักษา โดยมีรูปแบบการรักษาคร่าวๆ ดังนี้
- การกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า : สำหรับผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทหรือปลายประสาทชา
- การกระตุ้นด้วยช็อคเวฟ : สำหรับผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เส้นเอ็น และข้อกระดูก
- การจัดกระดูกสันหลัง : สำหรับผู้ป่วยที่การกดทับของเส้นประสาทในกระดูกสันหลัง
สรุปเรื่อง ออฟฟิศซินโดรม
โรคออฟฟิศซินโดรมมักจะเกิดกับคนทำงานนั่งโต๊ะหรือคนทำงานที่ต้องอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการปวดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ แม้เราจะเลี่ยงการทำงานไม่ได้แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ หรือขยับร่างกายบ้างในเวลางานเพื่อให้กล้ามเนื้อได้คลายตัวจากท่าเดิมบ้าง พร้อมทั้งสามารถหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยรองรับระหว่างทำงาน รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการนั่งทำงานก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้แล้ว และแน่นอนหาเวลาออกกำลังกายบ้างจะเป็นการดีที่สุด และหากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับเรื่องออฟฟิศซินโดรมขอจบเพียงเท่านี้
เครดิตภาพปก : Technology photo created by freepik – www.freepik.com
เครดิตข้อมูล : www.sikarin.com/health/officesyndrome