จากบทความที่แล้วเราได้พูดถึงอาการแพ้อาหารที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตในเรื่อง แพ้กุ้ง ในเรื่องของอาการและข้อปฏิบัติของคนใกล้ตัวกันไปแล้ว ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงโรคที่ใกล้ตัวยิ่งกว่าที่พบอาจจะแทบในทุกครอบครัวอย่าง โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติทำให้น้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้ก็ยิ่งมีอายุน้อยลงจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า เบาหวาน อาการ เป็นยังไง และเป็นแล้วจะต้องปฏิบัติตัวแบบไหนไปดูกัน
โรคเบาหวาน คืออะไร
เบาหวานหรือชื่อภาษาอังกฤษ Diabetes Mellitus คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงาน เกิดจากต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งทำให้ตับอ่อนไม่สามารถหลั่ง ฮอร์โมนอินซูลิน ที่เป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้เพียงพอ ทำให้ระดับนำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และน้ำตาลนั้นยังคงสะสมอยู่ในร่างกายจนกระทั่งไตไม่สามารถเก็บไว้ได้อีกจึงขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ซึ่งหากปล่อยไว้นานร่างกายอาจเกิดภาวะดื้ออินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และเกิดโรคจากภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
เบาหวาน อาการ เป็นยังไง
- ปัสสาวะเยอะ และปัสสาวะกลางคืนบ่อย
- กระหายน้ำ ดื่มน้ำเยอะ
- อยากอาหารตลอดเวลา หิวบ่อย กินเยอะ
- แผลหายช้า
- น้ำหนักตัวลด
- อ่อนเพลีย
- ตาพร่ามัวบ่อย
- มีอาการชา หรือปวดร้อนปลายประสาทนิ้วมือนิ้วเท้า
ชนิดของเบาหวาน
ชนิดของเบาหวานแบ่งได้ 6 ชนิด ตามที่ องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดในปี ค.ศ. 2019
- เบาหวานชนิดที่ 1 (T1DM) – เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์เบต้าของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อย แถมยังสัมพันธ์กับพันธุกรรม ซึ่งต้องใช้ยาอินซูลินในการรักษา
- เบาหวานชนิดที่ 2 (T2DM) – เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากภาวะดื้ออินซูลินทำให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มักเกิดกับคนมีน้ำหนักตัวสูง พบบ่อยในวัยกลางคนเป็นต้นไป แต่ก็ยังพบในเด็ก และวัยรุ่นได้เช่นกัน
- เบาหวานชนิดผสม (Hybrid form of diabetes) – เกิดจากการดื้ออินซูลินในช่วงแรกเหมือนกับเบาหวานชนิดที่ 2 และภูมิคุ้มกันยังทำลายเซลล์เบต้นในตับอ่อนทำให้ต้องใช้อินซูลินรักษาใน 6 ถึง 12 เดือน
- เบาหวานชนิดอื่นๆ ที่พบได้ (Other specific types)
- เบาหวานเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมของยีนความคุมเซลล์เบต้นในตับอ่อน
- เบาหวานจากโรคที่เกิดในตับอ่อน
- เบาหวานเกิดจากโรคทางต่อมไร้ท่อ
- เบาหวานเกิดจากการใช้ยา
- เบาหวานจากการติดเชื้อ
- เบาหวานจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับเบาหวาน
- ภาวะน้ำตาลสูงในช่วงตั้งครรภ์ – เกิดจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์และมีภาวะดื้ออินซูลินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน เฮชซีจี ซึ่งเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งมารดาและทารก จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างใกล้ชิด
- เบาหวานแยกชนิดไม่ได้ – ใช้กับเบาหวานชนิดที่ตรวจพบใหม่ และยังไม่สามารถแยกชนิดได้
ภาวะแทรกซ้อนจาก เบาหวาน
เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ และภูมิคุ้มกันตกจากการที่น้ำตาลไปเกาะเม็ดเลือดขาวทำให้เม็ดเลือดขาวที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ ทำงานได้ลดลง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนทางตา – หรือที่เรียกว่าเบาหวานขึ้นตา เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจนจอประสาทตาเสื่อม หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิด ต้อกระจก ต้อหิน จนถึงขั้นตาบอดได้
- ภาวะแทรกซ้อนทางไต – ภาวะเบาหวานลงไต เริ่มแรกไตจะทำงานหนักขึ้นทำให้แรงดันเลือดในไตสูงตามไปด้วย หากพบโปรตืนไข่ขาวรั่วออกมากับปัสสาวะ ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่งั้นอาจเกิดภาวะไตวายจนถึงขั้นต้องล้างไต
- ภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท – เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดมีอาการชาที่ปลายประสาทมือและเท้า มีอาการเหมือนเข็มแทงค้างไว้ แสบร้อนปลายมือและเท้า หรือแม้แต่เหงื่อออกง่าย หรือเหงื่อออกยากผิดปกติ
- ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน – มักเกิดขึ้นบริเวณขา สังเกตได้จากมีอาการปวดขามากเวลาเดินหรือวิ่ง ปลายเท้าเย็น ขนที่ขาร่วง หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะปลายเท้าขาดเลือดจนต้องตัดนิ้วเท้า หรือขาได้
- ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ – เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบแคบลงจนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้
- ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ – เป็นภาวะพบบ่อยเช่นกัน โดยเส้นเลือดสมองเมื่อตีบลงจะทำให้เลือกไปเลี้ยงระบบประสาทต่างๆ ได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต ปากเบี้ยว หรืออาการชาครึ่งซีกได้
จะรู้ตัวได้ยังไงว่าเป็นหรือไม่
อาการของเบาหวานในเริ่มแรกนั้นจะแตกต่างกันไปแต่ละคนตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย จนถึงขั้นช็อคน้ำตาลเลยก็มี แต่เราสามารถสังเกตุอาการเบื้องต้นด้วยตนเองได้ 3 อาการที่พบบ่อยคือ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยโดยมีปริมาณมาก และน้ำหนังตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวแนะนำให้เข้ารับการตรวจโดยแพทย์เพื่อ วินิจฉัยเบาหวาน ดังนี้
- หลังอดอาหารมาแล้ว 8 ชั่วโมง ตรวจพบน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- หลังรับประทานน้ำตาล 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- การตรวจวัดน้ำตาลสะสม A1C มีค่ามากกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์
ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน
การรักษา โรคเบาหวาน จำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งแพทย์ และผู้ป่วยเอง เพราะโรคเบาหวานเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติได้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในตัวเองในเรื่องการคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการกินยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำตามข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวัน
- ควบคุมอาหาร เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
- รับประทานอาหาร 3 มื้อให้ตรงเวลาแม้จะไม่หิว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของว่าง
- รับประทานข้าว หรือ แป้งในปริมาณพอเหมาะ
- รับประทานผัก และผลไม้
- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ลดอาหารรสหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้
- ลดอาหารมัน และเค็มจัด ที่มีการทอด หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ
- งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
สรุปเรื่อง เบาหวาน
โรคเบาหวานเกิดจากภาวะการดื้ออินซูลินทำให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้ดีจนทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป หากปล่อยไว้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาซึ่งมีผลตั้งแต่ทำให้เจ็บป่วยง่ายจนถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยแนะนำให้ลองตรวจหรือสังเกตอาการด้วยตนเองดู หากพบว่าตัวเองเข้าข่ายให้เข้ารับการตรวจ และรับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนจะป่วยเรื้อรัง ยิ่งรู้ตัวเร็วยิ่งห่างไกลจากเบาหวานได้ง่ายขึ้น สำหรับบทความเรื่องโรคเบาหวานขอจบเพียงเท่านี้
เครดิตข้อมูล
https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=1458
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/diabetes-2
เครดิตภาพปก
Glucose photo created by xb100 – www.freepik.com