จากเรื่องที่แล้วเราได้พูดถึงโรคใกล้ตัวที่หลายคนรู้จักกันดี และกำลังมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทความ โรคความดันสูง กันไปแล้ว ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงอีกเรื่องที่หลายท่านอาจจะกังวลเมื่อมีคนรอบตัวเป็นอย่างเรื่องการ แพ้กุ้ง ซึ่งเป็นรูปแบบการแพ้อาหารชนิดหนึ่งที่มีกุ้งเป็นสาเหตุ ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า อาการแพ้กุ้ง เป็นยังไง หากรู้ว่ามีอาการแพ้ต้องปฏิบัติแบบไหนมาดูกัน
แพ้กุ้ง การแพ้อาหารที่เกิดขึ้นได้ทุกวัย
กุ้ง เป็นอาหารที่หลายคนน่าจะชื่นชอบกันเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางคนที่เกิดอาการแพ้ขึ้นมาซะอย่างนั้น ไม่ว่าจะแพ้ตั้งแต่เด็ก หรือเคยกินมาตลอดก็มาเกิดอาการแพ้ช่วงตอนโต ซึ่งอาการแพ้กุ้งนี้เกิดจากการภูมิคุ้มกันในร่างกายแพ้ต่อโปรตีนจำเพาะในเนื้อกุ้ง มีอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละคนตั้งแต่แพ้เล็กน้อยอย่างแค่เกิดผื่นคัน หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แถมบางรายก็อาจแพ้กุ้งแค่บางชนิดเท่านั้น หรืออาจเพียงแพ้สารที่ติดมากับการจัดเก็บ หรือการเลี้ยงกุ้งก็เป็นได้
อาการแพ้กุ้ง
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าแต่ละคนมีระดับการแพ้กุ้งที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงเรียงลำดับอาการแพ้ตั้งแต่อาการแพ้เบื้องต้นไปจนถึงขั้นรุนแรง หากมีอาการตั้งแต่ข้อ 3 ลงไปถือว่าเป็นผู้มีอาการรุนแรงให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที โดยสังเกตุอาการได้หลังจากรับประทานไปเป็นเวลาประมาณ 5 นาทีถึง 2 ชั่วโมง
- เกิดผื่นแดงคันตามร่างกาย ปากบวม หรือเป็นลมพิษ
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- หลอดลมตีบ หายใจติดขัด
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด
- ความดันต่ำ ช็อก หมดสติ
รู้ตัวว่าแพ้กุ้งต้องทำอย่างไร
หากพบว่ามีอาการแพ้หลังจากรับประทานกุ้งให้ปฏิบัติดังนี้
- ผู้แพ้ไม่รุนแรงให้รับประทานยาแก้แพ้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ซื้อมาทานเอง
- ผู้มีอาการแพ้รุนแรงให้ฉีดยาแก้แพ้ Epinephrine ที่แพทย์แนะนำให้พกติดตัว และนำส่งโรงพยาบาล
- กรณีผู้แพ้รุนแรงไม่มียาให้เรียกรถพยาบาล หรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้ตัวให้เร็วที่สุด
- ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลหากมีอาการหายใจติดขัดให้ปรับท่านอนที่หายใจได้สะดวกขึ้น
สำหรับผู้ที่แพ้กุ้งจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการกินกุ้ง หรืออาหารที่มีส่วนประกอบจากกุ้ง แม้มีอาการแพ้เพียงเล็กน้อย
- พกยาแก้แพ้ไว้กับตัวเสมอ ไม่ว่าจะเดินทางไปใกล้ หรือไกลบ้านเพื่อให้รักษาได้ทันท่วงที
- หลีกเลี่ยงการจับต้องหรือประกอบอาหารด้วยกุ้ง เพราะบางรายก็พบว่าเพียงการแกะก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
- รับประทานอาหารนอกบ้านให้ระวังสารจากกุ้งปนมากันน้ำมัน และส่วนประกอบต่างๆ หรือแจ้งทางร้านว่าแพ้กุ้งให้เปลี่ยนอุปกรณ์การทำอาหาร
- แจ้งคนรอบตัวให้ทราบเรื่องอาการแพ้กุ้ง ไม่ว่าจะร้านอาหาร หรือสายการบินเพื่อเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้แพ้ระหว่างเดินทาง
คำถามที่พบบ่อย
♦ แพ้กุ้งหายได้หรือไม่
สำหรับผู้มีอาการรุนแรงถึงขั้นหายใจติดขัด อาเจียน ช็อก หรือหมดสติ จะไม่สามารถกลับมากินกุ้งได้อีก จำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงอย่างจริงจัง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยอย่างผื่นคันหรือไม่ได้มีอาการรุนแรงก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดอาการแพ้จากสารที่มาจากการเลี้ยง หรือการประกอบอาหารที่รับประทานไปพร้อมกันซึ่งสามารถหายได้ แต่หากมีอาการแพ้แม้เพียงเล็กน้อยทุกครั้งที่กินก็ควรเลี่ยงจะดีที่สุด
♦ กินยาดักแพ้กุ้ง แล้วจะกินได้หรือเปล่า
การกินยาดักก่อนการกินกุ้งไม่สามารถช่วยได้ เพราะยาจะช่วยเพียงบรรเทาอาการจากการแพ้กุ้ง และอาจทำให้ผู้แพ้กุ้งรับประทานเข้าไปมากจนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงตามมาได้ ดังนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง
♦ ฝืนกินกุ้งแล้วจะทำให้หายแพ้ได้ไหม
การฝืนกินกุ้งทั้งที่มีอาหารแพ้ไม่สามารถทำให้หายได้ และจะยิ่งทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงมากขึ้น
สรุปเรื่อง แพ้กุ้ง
อาการแพ้กุ้ง เกิดได้กับทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ยังเด็ก หรือเคยกินมาตลอดแล้วมาเป็นตอนโตก็ได้ ซึ่งอาการจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางรายอาจมีแค่ผื่นคัน หรือบางรายก็รุนแรงที่ขั้นเสียชีวิตได้ หากพบว่าตัวเองมีอาการแพ้กุ้งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกันตัวเอง บอกคนรอบข้างเพื่อช่วยดูแลการรับประทานอาหารไม่ให้ได้รับสารที่ทำให้แพ้โดยไม่ตั้งใจ และไม่ฝืนกินเข้าไปเพื่อหวังว่าจะหายในสักวัน
เครดิตข้อมูล
https://www.wongnai.com/food-tips/get-to-know-shrimp-and-shrimp-allergies
https://www.sanook.com/health/15597