โรครองช้ำ อาการปวดบริเวณฝ่าเท้าทุกเช้าหลังตื่นนอนที่ทำให้การชีชีวิตประจำวันยากขึ้น พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมาก แต่ก็สามารถพบได้ในวัยรุ่น หรือวัยทำงานเช่นกันหากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายทำให้เกิดรองช้ำ ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเรื้อรังหากไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นครั้งนี้เราจะมาดูกันว่า รองช้ำ คืออะไร สาเหตุที่ทำที่ทำให้เกิดอาการมาจากไหน และมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยบรรเทาอาการปวด หรือรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองได้บ้างไปดูกันเลย
โรครองช้ำ คืออะไร
รองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือทางการแพทย์เรียกว่า “โรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ” เกิดจากพังผืดใต้ฝ่าเท้าที่คอยรับ และกระจายแรงกระแทกมีอาการตึงจากการใช้งานหนัก หรือไม่ยืดเหยียดให้ดีก่อนใช้งานจนเกิดอาการอักเสบ การผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้าเวลาเหยียบลงพื้น และเมื่อฝืนเดินต่อไปจะรู้สึกปวดน้อยลง แต่จะกลับมาเป็นซ้ำๆ และมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมหาย ซึ่งรองช้ำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน โดยอาการบาดเจ็บนี้จะค่อยๆ สะสม เจ็บเล็กๆ น้อยๆ จนหลายคนละเลย ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็ตอนเกิดอาการอักเสบขึ้นแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังมีอาการของโรครองช้ำ
วิธีสังเกตว่าตนเองกำลังมีอาการของรองช้ำอยู่หรือเปล่านั้นไม่ยาก หลังจากตื่นนอนในตอนเช้าเมื่อก้าวลงจากที่นอนแล้วเกิดอาการเจ็บแปลบ แต่หลังจากเดินต่อเนื่องไปสักพักก็จะมีอาการเจ็บน้อยลง นั่นอาจคือสัญญาณที่บอกว่ากำลังมีอาการของโรครองช้ำ นอกจากนี้ยังเกิดในช่วงหลังจากไม่ได้เดินเป็นเวลานานเช่น นั่งทำงาน หลังขับรถ ซึ่งไม่ควรเพิกเฉยรีบหาวิธีรักษา หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาให้ถูกวิธี
ปัจจัยที่สงผลให้เกิดรองช้ำ
ปัจจัยส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อโรครองช้ำมักจะเกี่ยวกับการทิ้งน้ำหนักตัวเป็นเวลานาน ทำให้พังผืดบริเวณฝ่าเท้าเกิดอาการตึง ไม่ยืดหยุ่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่เกิดรองช้ำได้ หากเป็นไปได้ควรปรับพฤติกรรม หรือยืนเหยียดฝ่าเท้าก่อนการทำกิจวัตรประจำวันจะดีที่สุด โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรครองช้ำมีดังนี้
- มีน้ำหนักตัวมาก
- ใส่รองเท้าที่พื้นแข็งเกินไป หรือรองเท้ากระจายแรงได้ไม่ดี
- เอ็นเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น
- ทำงานที่ต้องยืนนานๆ หรือเดินอยู่ตลอด
- โครงสร้างเท้ากระจายแรงได้ไม่ดี
- การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ซึ่งต้องยืดเหยียดให้ดีก่อน
การรักษา หรือบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง
หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยตนเองได้โดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง และฝ่าเท้า ประกอบกับการประคบด้วยน้ำอุ่นบริเวณฝ่าเท้าจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่สำหรับผู้ที่มีการรุนแรงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าเดิมได้ โดยท่าสำหรับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อสามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้
นั่งเหยียดขาไปด้านหน้า ใช้ผ้าขนหนูคล้องบริเวณผ่าเท้าแล้วดึงเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงที่บริเวณน่องค้างไว้ประมาณ 1 นาที รอบละ 2 ถึง 3 ครั้ง วันละ 4 ถึง 6 รอบ
วางผ้าขนหนูขนาดเล็กไว้ที่พื้น ฝึกหยิบผ้าขนหนูด้วยนิ้วเท้า ทำแบบไม่เกร็งจนเกินไป ทำ 10 ครั้ง 1 ถึง 2 รอบต่อวัน
ยืดน่อง และส้นเท้าโดยหันหน้าเข้ากำแพง มือทั้งสองค้ำกำแพงไว้ ขาข้างหนึ่งอยู่ด้านหน้า และขาข้างหนึ่งเหยียดตรงไปด้านหลัง ฝ่าเท้าแนบกับพื้นทั้งสองข้าง ให้รู้สึกตึงบริเวณน่องข้างที่เหยียดตรง ทำประมาณ 1 นาที รอบละ 2 ถึง 3 ครั้ง วันละ 4 ถึง 6 รอบ
นวดฝ่าเท้าโดยการนั่งเหยียบสิ่งของที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอก หรือลูกบอลที่มีความแข็งระดับหนึ่งกลิ้งไปกลิ้งมาบริเวณฝ่าเท้า ไม่ต้องกดแรงลงไป ทำรอบละ 2 ถึง 3 นาที วันละ 2 รอบ
สรุปเรื่อง โรครองช้ำ
รองช้ำ เกิดจากการอักเสบของพังผืดบริเวณฝ่าเท้าที่ทำให้การลงน้ำหนักที่เท้าเกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะปวดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก , ทำงานที่ต้องยืน หรือเดินตลอด , อายุมากขึ้น , การออกกำลังกายโดยไม่ยืดเหยียด หรือแม้แต่การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการควรรีบปรับพฤติกรรม และรักษาให้หายก่อนจะเป็นถึงขั้นเรื้อรังจนรักษายาก แต่หากมีอาการรุนแรงแล้วควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่ถูกต้องจะดีที่สุด
สำหรับใครที่กำลังสนใจการลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> การทำ IF เพื่อการลดน้ำหนัก
เครดิตข้อมูล : https://www.ortho.wustl.edu/content/Education/3691/Patient-Education/Educational-Materials/Plantar-Fasciitis-Exercises.aspx
เครดิตภาพปก : Image by jcomp on Freepik