หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอีกอาการหนึ่งที่มีผู้ป่วยมากขึ้นจากการใช้ชีวิต และการทำงานที่แตกต่างจากเมื่อก่อน หรือพฤติกรรมการนั่ง/นอน ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกจนอาจไปกดทับเส้นประสาทได้ หลายคนคงเคยสงสัยตัวเองเวลาปวดเมื่อยบริเวณหลัง หรือสะโพก หลังจากทำงาน หรือทำกิจกรรมหนักๆ มา แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาการเหล่านั้นจะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นไปซะหมด ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าหมอนรอง กระดูกทับเส้น เป็นยังไง แล้วจะมีวิธีไหนจะช่วยให้เราห่างไกลจากมันได้บ้างไปดูกัน
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คืออะไร
ร่างกายของเรากระดูกสันหลังจะเป็นตัวรับน้ำหนัก และรับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน และหมอนรองกระดูกก็จะอยู่ระหว่างกระดูกแต่ละข้อ ซึ่งพออายุมากขึ้นหมอนรองนี้ก็จะเริ่มเสื่อมลง ความยืดหยุ่นน้อยลง จนอาจเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้ปวดร้าวตามแนวของเส้นประสาทนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณเอว และหลังคอ แต่ก็ใช่ว่าหมอนรองกระดูกเสื่อมแล้วจะเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดเสมอไป เพราะบางคนหมอนรองกระดูกเสื่อมแต่ไม่ทับเส้นก็จะไม่เกิดอาการใดๆ และบางคนที่หมอนรองกระดูกไม่เสื่อมแต่เกิดการกดทับก็จะมีอาการได้เช่นกัน
กระดูกทับเส้น กับ ปวดหลัง ต่างกันยังไง
การปวดเมื่อยหลัง หรือคอ จะเป็นอาการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณกลางหลังลงไปถึงเอว และบริเวณคอ ซึ่งมักเกิดกับคนนั่งทำงานในท่าเดียวนานๆ ได้ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่หนักๆ มา ซึ่งเวลากดตามแนวหลังจะรู้สึกเจ็บ แต่หากเป็นการทับเส้นประสาทจะไม่สามารถกดแล้วรู้สึกเจ็บได้เพราะเส้นประสาทอยู่ลึกลงไป อาการปวดมักจะปวดหลัง ปวดร้าวไปตามขา มีอาการแขนขาอ่อนแรง และชาร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้รู้สึกทรมารอย่างมาก
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการมีตั้งแต่เป็นๆ หายๆ ไปจนถึงอาการปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งแนะนำว่าหากมีอาการเข้าข่ายหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรแก้ไขพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด และหากมีอาการรุนแรงควร *ปรึกษาแพทย์* เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี ไม่ควรปล่อยไว้ หรือทำการรักษาด้วยตนเอง โดยอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีดังนี้
- ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง มีอาการปวดเมื่อไอ หรือจาม
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ว่าจะสะโพก ขา แขน มือ หรือเท้า
- มีอาการชาที่ปลายนิ้วเท้า
- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ในบางรายที่มีอาการหนัก ต้องรีบรักษาโดยด่วน
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีเช็ค อาการ
- นอนหงายเหยียดขาตรง ให้คนใกล้ตัวยกขาขึ้นในแนวตั้งไม่ต้องเกร็ง หรือออกแรง หากมีอาการปวดหลังนั่นเป็นสัญญาณว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น
- เวลาปวดหลัง และสะโพก มีอาการปวดร้าวลงขา มักเป็นหลังนั่ง หรือยืนนานๆ
- มีอาการชาร่วมกับอาการปวดหลัง หรืออาจมีอาการชาตามปลายนิ้วเท้า
- ขารู้สึกอ่อนแรง หรือมีแรงไม่เท่ากัน ทดสอบโดยใช้นิ้วโป้งเท้าดันโดยให้คนใกล้ตัวออกแรงต้าน หากรู้สึกออกแรงได้ไม่เท่ากันก็มีโอกาสเป็นได้
- สังเกตเวลาไอ จาม หากมีอาการปวดหลัง หรืออาการข้างต้นที่กล่าวมา ก็ถือว่าเป็นอีกสัญญาณของหมอนรองกระดูกทับเส้นเช่นกัน
ทำอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นแล้ว
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถรับประทานยารักษาโดยปรึกษาเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำได้ และควรปรับพฤติกรรมประจำวัน หรือทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทา และรักษาให้หายได้ แต่กรณีที่มีอาการตั้งแต่ชา หรืออ่อนแรงขึ้นไปควรเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อไม่ให้มีอาการร้ายแรงมากกว่าเดิม สำหรับข้อแนะนำการปฎิบัติตัวเพื่อรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีดังนี้
- การนั่งทำงานไม่ควรนั่งนิ่งนานๆ เกิน 1 ชั่วโมง ให้ลุกขยับร่างกายเป็นระยะ
- ออกกำลังกาย สร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง และหลังให้แข็งแรง
- ยืดกล้ามเนื้อหลัง และบริเวณคอเพื่อลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการก้มเงยบ่อยๆ
- ทำกายภาพบำบัด หรือท่าบริหารร่างกายบริเวณหลัง ไม่หักโหม
- ปรับพฤติกรรมการนั่ง และการนอนให้ถูกต้อง เตียงไม่นิ่ม และไม่แข็งเกินไป
- การนั่งทำงานนานๆ ให้หาเก้าอี้ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับรองรับการนั่ง และรองรับหลัง
สรุปเรื่องหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกของกระดูกสันหลังที่ยืดหยุ่นน้อยลงจนอาจขยับไปกดทับโดนเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ถ้าหากปล่อยไว้ก็จะยิ่งมีอาการมากขึ้นซึ่งทรมารเป็นอย่างมาก หากมีอาการไม่รุนแรงมากสามารถรับประทานยาแก้ปวด ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาให้หายได้ แต่สำหรับผู้ที่มาอาการรุนแรงควรเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เพื่อให้ถูกวิธีจะเป็นการดีที่สุด
เบาหวาน โรคใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ อ่านต่อได้ที่นี่ >> โรคเบาหวาน
เครดิตข้อมูล
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/herniated-disc
เครดิตภาพปก
Face mask photo created by freepik – www.freepik.com