จากครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอในเรื่อง ออกกำลังกาย กันไปแล้ว ครั้งนี้จะมาพูดถึงอีกเรื่องของสุขภาพที่สำคัญไม่แพ้กันซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งของตนเอง และคนใกล้ตัวอย่าง นอนกรน เรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ต่างก็รู้จักกันดีที่ไม่ว่าบ้านไหนก็ต้องเคยเจอกันอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าการนอนกรนเกิดจากอะไร และหากปล่อยไว้จะมีปัญหาสุขภาพอะไรเกิดขึ้นตามมาบ้าง พร้อมแนะนำวิธีการ แก้นอนกรน อย่างง่ายที่ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
นอนกรน เกิดจากอะไร
อาการนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจตีบแคบลงเวลานอนหลับทำให้เวลาหายใจผ่านช่องแคบเกิดการกระพือของกล้ามเนื้อในลำคอทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น ซึ่งปกติเมื่อคนเรานอนหลับกล้ามเนื้อต่างๆ ก็จะคลายตัวลง กล้ามเนื้อบริเวณลำคอ เพดานอ่อนในช่องปาก โคนลิ้น และอื่นๆ ที่ใกล้เคียงก็จะคลายตัวทำให้อาจหย่อนลงมาเบียดบังช่องทางเดินหายใจโดยเฉพาะเวลาที่เรานอนหงายจะเกิดขึ้นง่ายกว่าปกติ

สาเหตุของการนอนกรนโดยทั่วไป
- น้ำหนักตัวเยอะ มีไขมันในช่องคอหนา
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อหย่อน
- กล้ามเนื้อคลายตัวตามอายุที่มากขึ้น
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ความเหนื่อยล้าของร่างกาย
- การนอนหงายเป็นประจำ
สาเหตุการนอนกรนจากความผิดปกติ
- ช่องจมูกตีบจากภูมิแพ้
- การรับประทานยาบางชนิด
- ความผิดปกติของร่างกายที่ส่งผลต่อระบบหายใจ
นอนกรน อันตรายหรือไม่
การนอนกรนโดยปกติไม่จัดว่าเป็นอันตรายมากนักนอกจากให้เกิดเสียงดังรบกวนคนใกล้ตัว แต่ก็สามารถส่งผลเสียที่อันตรายตามมาได้หากมีการกรนอย่างรุนแรงผิดปกติ โดยจะขอแบ่งการกรนออกเป็นแบบทั่วไป และแบบที่เข้าข่ายอันตรายดังนี้
- นอนกรนแบบทั่วไป – การนอนกรนแบบทั่วไปจะเกิดเสียงรบกวนเท่านั้น แม้ช่องทางเดินหายใจจะตีบลงแต่ก็ยังหายใจได้ปกติถือว่าไม่เป็นอันตราย นอกจากอาจมีอาการเจ็บคอ หรือคอแห้งบ้างหลังจากตื่นนอน
- นอนกรนแบบเข้าข่ายอันตราย – สำหรับบางคนที่นอนกรนเป็นปกติก็อาจมีอาการแย่ลงได้จากการที่กล้ามเนื้อหย่อนตัวลงมากกว่าเดิมเพราะการนอนกรนเป็นประจำ ทำให้บางครั้งก็ถึงขั้นลงมาปิดช่องทางเดินหายใจทั้งหมดจนเกิด ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษา
รุนแรงแค่ไหนถึงควรพบแพทย์
หากมีอาการดังนี้ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อปรับพฤติกรรม หรือรับการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา หากปล่อยไว้นานจะยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
- กรนเสียงดังมากผิดปกติจนได้ยินแม้อยู่คนละห้อง
- ปวดศีรษะหลังตื่นนอน
- นอนไม่เต็มอิ่ม ง่วงระหว่างวันทั้งที่นอนเยอะ
- ตื่นระหว่างนอนหลับเพราะสำลัก หรือหายใจติดขัด
แก้นอนกรน ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ
สำหรับผู้ที่พบว่าตัวเองมีอาการนอนกรนไม่รุนแรงนักแล้วต้องการปรับตัวให้กรนน้อยลง สามารถปฏิบัติตามวิธีด้านล่างอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาเลยก็ได้ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนท่านอน – การนอนหงายมักจะเพิ่มโอกาสการนอนกรนมากขึ้น ดังนั้นหากปรับเป็นท่านอนตะแคงจะทำให้เกิดการกรนน้อยลง
- ออกกำลังกายและลดน้ำหนัก – การออกกำลังกายจะช่วยให้ไขมันสะสมทั่วร่างกายน้อยลงโดยเฉพาะช่องคอ และกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นไม่หย่อนยาน
- งดชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และบุหรี่ก่อนเข้านอน – การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้กล้ามเนื้อลำคอหย่อนยาน และการสูบบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่อทางเดินหายใจบวม
- พักผ่อนให้เพียงพอ – การได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวมาเกินไปจนหย่อนลงมาเบียดทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงยาบางชนิด – ยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง ยานอนหลับ หรือยาระงับประสาทจะทำให้กล้ามเนื้อลำคอหย่อนยานไปด้วยทำให้นอนกรนได้
สรุปเรื่องนอนกรน
การนอนกรนเป็นการที่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอหย่อนยาน หรือคลายตัวลงมาเบียดช่องทางเดินหายใจทำให้เกิดการกระพือของกล้ามเนื้อจนเกิดเสียง โดยปกติแล้วการกรนตามปกติจะไม่เกิดปัญหาสุขภาพมากนักแต่อาจเกิดปัญหารบกวนคนใกล้ตัว ซึ่งบางรายหากปล่อยไว้นานก็อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นหยุดหายใจขณะหลับได้ ดังนั้นหากพบว่ามีอาการรุนแรงผิดปกติควรปรับพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการกรนน้อยลง และเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สำหรับบทความนี้ขอจบเพียงเท่านี้เรื่องหน้าจะเป็นอะไร รอติดตามกันได้เลย
เครดิตภาพปก : Couple sleeping photo created by katemangostar – www.freepik.com
เครดิตข้อมูล : https://www.nksleepcenter.com/snoring-sleep-apnea/ และ https://www.vitalsleepclinic.com/how-to-stop-snoring/